สถาบันการแพทย์ไทย-จีน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

รปลงเวป 1 1

 

โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากเกิน มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 20 โดยวัดจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ของประชากรเอเชีย > 23 กก./ตร.ม. ถือว่าน้ำหนักกิน และค่าเส้นรอบเอว > 90 เซนติเมตร ในชาย และ > 80 เซนติเมตร ในหญิง อาจมีอาการร่วม คือ วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลียไม่มีแรง ไม่มีชีวิตชีวา พูดน้อย เคลื่อนไหวเชื่องช้า หายใจไม่เต็มอิ่ม
โรคอ้วนแบ่งได้ 2 ชนิด  ได้แก่
1. อ้วนแบบธรรมดา มีสาเหตุการเกิดโรคไม่แน่ชัด เกิดจากวิถีการใช้ชีวิต เช่น การบริโภคมากเกิน ไม่ออกกำลังกาย นั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ขยับร่างกาย และมักเกิดในเด็ก
2. อ้วนแบบทุติยภูมิ มีสาเหตุการเกิดโรคชัดเจน เกิดจากโรคทางสมอง หรือความปกติของต่อมไร้ท่อ

กลไกการเกิดโรคทางการแพทย์แผนจีน เกิดจากความอ่อนแอของกระเพาะอาหารและม้าม ทำให้มีการสะสมของเสมหะความชื้น ทำให้ชี่ติดขัด เลือดคั่ง และความร้อนเกิดขึ้นในร่างกาย กลไกของโรคอ้วนสัมพันธ์กับหยางชี่พร่องมาก มีเสมหะความชื้นมาก ชี่ของม้ามพร่อง ทำให้การลำเลียงของม้ามไม่มีกำลัง สารอาหารต่าง ๆ ไม่ถูกลำเลียงส่งกระจายไปทั่วร่างกายอย่างเหมาะสม จึงแปรสภาพเป็นไขมัน น้ำและความชื้นตกค้างติดขัดอยู่ภายใน และไตหยางพร่องมากทำให้ไม่มีแรงพอที่จะขับเคลื่อนการไหลเวียนของเลือด สารน้ำไม่ถูกผลักดันให้ขึ้นบน ทำให้การไหลเวียนของเลือดช้า ความชื้นหยุดนิ่ง ทำให้เป็นโรคอ้วน

ตำแหน่งของโรคอ้วน เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร ม้ามและกล้ามเนื้อ โดยมีความสัมพันธ์กับไตพร่องร่วมกับมีการทำงานที่ผิดปกติของตับ หัวใจ และปอด

การดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน
1. ควรควบคุมอารมณ์ ให้อารมณ์แจ่มใสมีความสุข
2. ควบคุมอาหารอย่าทานมากเกินไม่กินตามความเคยชิน ควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารจำพวกขนมขบเคี้ยว ของทานเล่น ของหวาน และอาหารที่ให้พลังงานสูง ควรเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันและคาร์โบไฮเดรตต่ำ
3. ควรดูแลอากาศในห้องนอนให้แห้งไม่ชื้น
4. ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อให้ร่างกายโดนแดดอ่อนช่วงเช้าบ่อยๆ เพื่อรับหยางชี่พลังงานความร้อนจากธรรมชาติเข้าสู่ร่างกาย ควรออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น การเดิน วิ่งช้าๆ บริหารร่างกายท่าไทเก๊ก ตีปิงปอง แบตมินตัน เทนนิส ว่ายน้ำ เป็นต้น เลี่ยงการออกกำลังกายหนักหรือหักโหมมากเกิน เพื่อป้องกันความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น

 

หลักการด้านโภชนาการที่สำคัญ คือ ขับความชื้นสลายเสมหะ เน้นการปรับการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง ทานให้ตรงเวลา และควบคุมปริมาณการทาน เวลาทานให้เคี้ยวให้ละเอียดและทานช้า ๆ ไม่ทานขนมคบเคี้ยว ไม่ทานมื้อดึก โดยเลือกทานอาหารที่ร้อน ทานผักและผลไม้มาก ๆ ควบคุมการทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลและไขมันสูง

เมนูแนะนำตามการวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการโรค
1. กลุ่มอาการกระเพาะอาหารร้อนไฟคั่ง

ลักษณะ ร่างกายอ้วน มีอาการหิวบ่อย อุจจาระไม่สุดหรือแห้งแข็ง ปัสสาวะเหลือง หรือมีอาการปากขมคอแห้ง ชอบทานน้ำ ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรสม่ำเสมอ หรือค่อนข้างเร็ว

หลักการโภชนบำบัด ดับไฟร้อนที่กระเพาะอาหาร ช่วยย่อย
อาหารแนะนำ เช่น ฟัก แตงกวา

เมนูแนะนำ น้ำฟัก

ส่วนประกอบ ฟักสด 250 กรัม

วิธีทำ นำฟักมาต้มเป็นน้ำชา ดื่มได้ทุกวัน สามารถดื่มติดต่อกันนาน 3 เดือน

2. กลุ่มอาการเสมหะและความชื้นภายในเพิ่ม

ลักษณะ ร่างกายอ้วน ร่างกายรู้สึกหนัก ๆ แขนขาขยับยาก มีอาการแน่นหน้าอก อาจพบร่วมกับอาการเวียนหัว ปากแห้งไม่อยากอาหาร อุจจาระน้อย ชอบทานของหวานมันและแอลกอฮอล์ ชอบนอนไม่ขยับร่างกาย ลิ้นอ้วนซีดหรือใหญ่ ฝ้าขาวเหนียวหรือขาวมันวาว ชีพจรลื่น

หลักการโภชนบำบัด ขับความชื้นสลายเสมหะ ปรับการไหลเวียนชี่ช่วยย่อยไขมัน

อาหารแนะนำ เช่น ปลาไน ถั่วแดง ใบบัว ผลซานจา เปลือกส้ม ลูกเดือย

เมนูแนะนำ น้ำใบบัว

ส่วนประกอบ ใบบัวตากแห้ง 9 กรัม ผลซานจา (山楂) 9 กรัม เปลือกส้ม 9 กรัม

วิธีทำ นำส่วนประกอบทั้งสามมาล้าง แล้วแช่น้ำร้อน ดื่มเป็นชา ดื่มได้ทุกวัน สามารถดื่มติดต่อกันนาน 3 เดือน

3. กลุ่มอาการชี่ติดขัดเลือดคั่ง

ลักษณะ ร่างกายอ้วนขี้เกียจขยับร่างกาย มีอาการถอนหายใจบ่อย แน่นหน้าอก หน้าคล้ำปากคล้ำ แขนขาซีดหรือม่วงเขียว อาจพบร่วมกับอุจจาระแห้ง นอนไม่หลับ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมาน้อยหรือไม่มา สีประจำเดือนคล้ำหรือมีลิ่มเลือด ลิ้นคล้ำหรือมีจุด ฝ้าบาง ชีพจรลื่นหรือฝืด

หลักการโภชนบำบัด ปรับการไหลเวียนชี่ สลายเลือดคั่ง

อาหารแนะนำ เช่น ดอกเก๊กฮวย ดอกกุหลาบ เปลือกส้ม ดอกคำฝอย

เมนูแนะนำ น้ำดอกกุหลาบ

ส่วนประกอบ ดอกกุหลาบตูม (เพิ่งเริ่มบาน) 30 ดอก

วิธีทำ นำขั้วดอกออก ล้างแล้วนำไปต้น เติมน้ำตาลกรวดตามเหมาะสม ดื่มวันละ 2 ครั้ง

4. กลุ่มอาการชี่ม้ามพร่องทำให้สารอาหารไม่ลำเลียง

ลักษณะ ร่างกายอ้วนบวม มีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรง ร่างกายรู้สึกหนักๆ แน่นท้อง อาจพบอาการแขนขาบวมเล็กน้อย รุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน เหนื่อยง่าย ทานอาหารปกติหรือน้อยลง ปัสสาวะไม่คล่อง อุจจาระเหลวหรือท้องผูก ลิ้นอ้วนซีด ขอบลิ้นมีรอยฟัน ฝ้าขาวบางหรือขาวเหนียว ชีพจรลอยเล็กเบา

หลักการโภชนบำบัด บำรุงชี่ของม้าม ขับน้ำและความชื้น

อาหารแนะนำ เช่น ลูกเดือย ถั่วแดง เนื้อไก่ โสมตังเซิน (党参)

เมนูแนะนำ ไก่ต้มฟักโสมตังเซิน

ส่วนประกอบ อกไก่ 200 กรัม ฟัก 200 กรัม โสมตังเซิน (党参) 3 กรัม

วิธีทำ นำเนื้อไก้ล้างแล้วหั่นเป็นเส้น นำฟักล้างแล้วหั่นเป็นชิ้น นำเนื้อไก่ โสมตังเซิน น้ำเล็กน้อย ใส่หม้อ ตุ๋นไฟอ่อนจนเกือบสุก ใส่ฟักและเกลือ เหล้าเหลือง เครื่องปรุงรส ปริมาณตามเหมาะสม ต้มต่อจนฟักสุก ทานซุปพร้อมเนื้อไก่ วันละ 2 ครั้ง ทานติดต่อกันนาน 15 วัน

5. กลุ่มอาการม้ามไตหยางพร่อง

ลักษณะ ร่างกายอ้วนอ่อนแรง มีอาการมือเท้าเย็น ชอบทานน้ำอุ่น ปัสสาวะใส ลิ้นอ้วนซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรจมเล็ก

หลักการโภชนบำบัด บำรุงชี่ของม้ามและไต อบอุ่นหยางปรับชี่     
อาหารแนะนำ เช่น กุ้ง อบเชย เนื้อลำไย ตู้จ้ง
(杜仲)

เมนูแนะนำ โจ๊กกุ่ยช่าย

ส่วนประกอบ กุ่ยช่าย 20 กรัม ข้าวสาร 100 กรัม ตู้จ้ง (杜仲) 10 กรัม ลูกเดือย 20 กรัม

วิธีทำ นำตู้จ้งต้มน้ำ 3 ครั้ง กรองเอาแต่น้ำ ใส่ข้าวสาร ลูกเดือยต้มในน้ำตู้จ้ง ต้มจนข้าวสุกเป็นโจ๊ก แล้วค่อยใส่กุ่ยช่ายพร้อมปรุงรส ทานแทนมื้ออาหารวันละ 2 มื้อ ทานติดต่อกันนาน 15 วัน

 

เอกสารอ้างอิง
1. Ma LieGuang, Zhang DeLin, editors. Science of Health Maintenance of Traditional Chinese medicine. 4th21. (in Chinese)
 2. Shi HongFei, Fang Hong, editors. Nutrition2ed21. (in Chinese)
 3. https://www.huachiewtcm.com/en/content/6113/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99

4. แพทย์หญิงณิชา สมหล่อ. หน่วยโภชนาการคลินิกฝ่ายอายุรศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. บทความเรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคอ้วนในเวชปฏิบัติ

Banner GJ03052566

จำนวนผู้เข้าเว็บไซต์

00767723
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All
276
443
980
763481
6361
9607
767723

16/07/2024 12:32

 โมบายแอปพลิเคชัน

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้​ 

 

appstore 

playstore

ติดตาม กรมการแพทย์แผนไทยฯ

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่ 

 

facebook icon youtube icon youtube icon 02

 

Addfriend

Satisfied button1

logo DTAM 2017

สถาบันการแพทย์ไทย-จีน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

เลขที่ 88/23 หมู่ 4 ถนนติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000  

 

โทรศัพท์ : (+66) 0-2149-5676

โทรศัพท์ : (+66) 0-2591-7007

โทรสาร : (+66) 0-2591-7007

Email :thaichinesemedicine@gmail.com